07 ตุลาคม 2550

การเพาะพันธุ์ปลาซิวสมพงษ์














Trigonostigma somphongsi ปลาซิวสมพงษ์
เรียบเรียง : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล
ภาพ : นณณ์ ผาณิตวงศ์, เอกพันธ์ อุบลราช

ลักษณะและ สถานภาพทั่วไป
ปลาซิวสมพงษ์ Trigonostigma somphongsi เป็นปลาที่ติดอยู่ในบัญชี Red Data ของกรมทรัพยากรธรรมชาติ ค้นพบโดยคุณสมพงศ์ เล็กอารีย์ เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว มีส่งออกไปต่างประเทศอยู่พักหนึ่งแล้วก็หยุดไป มีภาพตัวเป็นๆจากเยอรมัน และ ญี่ปุ่น สิบกว่าปีหลังมานี่ไม่เคยมีใครได้เห็นตัวเป็นๆอีกเลย รายงานยืนยันครั้งสุดท้าย (เท่าที่ผมรู้) คือปลาชุดที่ส่งออกไปญี่ปุ่นเมื่อสัก 12 ปีที่แล้ว ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆแล้วซิวสมพงศ์อาศัยอยู่ที่ไหน ยังไงกันแน่ นักวิชาการรุ่นหลังๆไม่เคยมีใครเห็นตัวเป็นๆเลย มีแต่ตัวอย่างเก่าที่ไม่ได้ระบุแหล่งจับ ในหลายๆห้วงของความคิด ผมนึกว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว นั่งหาข้อมูลแล้วเจอภาพซิวสมพงศ์ในเว็บภาษาเยอรมัน สอบถามได้ความว่าปีที่แล้วมีซิวสมพงศ์ 3 ตัวหลุดไปกับปลาซิวหนู ไปอยู่ที่เยอรมัน โชคดีที่ 3 ตัวเป็นตัวผู้ 1 เมีย 2 เจ้าของชาวเยอรมันเพาะได้ตอนนี้มีอยู่ 50 กว่าตัว พอดีมีเพื่อนมาจากเยอรมันเลยฝากให้หิ้วมาให้ ก็เลยได้ยืนยันว่ามันยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ยังหาไม่เจออยู่ดีว่าในธรรมชาติมันอาศัยอยู่ที่ไหน ยังไง เป็นการบ้านที่จะต้องตามหาต่อไป (นณณ์, siamensis.org)

ความแตกต่างระหว่างเพศ
เพศผู้มีรูปร่างลักษณะรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กว่าปลาเพศเมีย บริเวณลำตัวมีสีเหลืองส้มและลวดลายข้างลำตัวจะเข้มชัดเจนเมื่อใกล้ฤดุผสมพันธุ์ เพศเมียมีลักษณะรูปร่างป้อมมีสีซีดจางและลวดลายข้างลำตัวไม่ชัดเจน ข้อแตกต่างจะเห็นได้ขัดเจนมากยิ่งขึ้นช่วงที่ปลาพร้อมจะวางไข่


อุปนิสัยและพฤติกรรม การผสมพันธุ์ อาหาร
ปกติเป็นปลาที่มีนิสัยไม่ดุร้าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี กินอาหารง่ายเป็นปลาที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ว่ายน้ำตลอดเวลา (นณณ์, กล่าวว่า) ปลาซิวในสกุล Trigonostigma จะไข่แปะไว้ใต้ใบไม้น้ำ ซึ่งแตกต่างจากปลาซิวในกลุ่มอื่นๆที่จะไข่กระจัดกระจายไปตามพื้นน้ำ ไข่จะฟักภายใน 30 ชั่วโมง แม่ปลาสามารถวางไข่ได้ประมาณ 8-10 ฟอง อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงค์ตอนสัตว์และตัวอ่อนแมลงน้ำขนาดเล็ก

การเพาะพันธุ์ และอนุบาลลูกปลา
(นณณ์, กล่าวว่า) เป็นตู้ที่แบ่งเป็นสองซีกโดยทำกระจกกั้นเป็นรูปสามเหลี่ยมให้มีช่องว่างตรงกลางอยู่เพียงแค่ 2 มม. ดูตามภาพนะครับ ด้านนอกจะเป็นที่อยู่ของพ่อแม่ปลา ด้านในที่สามเหลี่ยมทิ่มเข้าจะเป็นจุดที่ลูกปลาอยู่ทั้งนี้จะเห็นว่ากรองฟองน้ำจะอยู่ในฝากลูกปลาแต่ท่อจะพ่นน้ำมาฝั่งพ่อแม่ปลา นั่นก็คือ น้ำจะไหลเวียนจากช่องพ่อแม่ปลามาทางช่องลูกปลาตลอดเวลา เป็นการเพิ่มโอกาศที่ลูกปลาจะหลุดเข้าไปในช่องเล็กมากขึ้น ด้านพ่อแม่ปลาจะใส่มอสและเฟิร์นรากดำไว้รกๆ ส่วนฝากลูกปลาก็จะมีมอสอยู่บ้าง วิธีนี้คุณ uta บอกว่าจะได้ลูกปลาประมาณเดือนละ 10-15 ตัว ซึ่งลูกปลาจะโผล่ออกมาเอง เวลาเปลี่ยนน้ำก็ให้ดูดอย่างระวังจากฝากลูกปลา ก็จะเป็นการดึงน้ำจากฝากพ่อแม่ปลามาทางฝากลูกปลาด้วย อาหารที่ให้เป็นไรแดงแต่เน้นใส่เยอะไว้ก่อน แล้วก็หวังว่าจะมีตัวเล็กๆ ที่ลูกแลกินได้หลงเข้าไปบ้าง มีตายบางก็ใช้ที่ดูดน้ำอันเล็กๆ ดูดออกแล้วเปลี่ยนน้ำใหม่ที่ละไม่เกิน 20% จนในที่สุดลูกปลาก็โตเริ่มมีเส้นสีดำและสีทองขึ้นที่เส้นข้างตัวเหมือนพ่อแม่เมื่ออายุประมาณ 3-4 สัปดาห์



อ้างอิง : siamensis.org กลุ่มอนุรักษ์ปลาไทยและสิ่งแวดล้อม
นิตยสารอควา ปีที่ 5 ฉบับที่ 48 ประจำเดือน มกราคม 2550
รับปรึกษาปัญหาสัตว์น้ำ สุขภาพสัตว์น้ำ ด้านการจัดการสัตว์น้ำ การเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำสวยงามทุกชนิด ทุกปัญหาเรามีทางแก้ไข
ติดต่อได้ที่ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล ประธานชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม170/5 หมู่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150โทรศัพท์ : +66(0)84 1900190
e-mail : j.polpermpul@gmail.com