07 ตุลาคม 2550

การเพาะพันธุ์ปลาซิวสมพงษ์














Trigonostigma somphongsi ปลาซิวสมพงษ์
เรียบเรียง : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล
ภาพ : นณณ์ ผาณิตวงศ์, เอกพันธ์ อุบลราช

ลักษณะและ สถานภาพทั่วไป
ปลาซิวสมพงษ์ Trigonostigma somphongsi เป็นปลาที่ติดอยู่ในบัญชี Red Data ของกรมทรัพยากรธรรมชาติ ค้นพบโดยคุณสมพงศ์ เล็กอารีย์ เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว มีส่งออกไปต่างประเทศอยู่พักหนึ่งแล้วก็หยุดไป มีภาพตัวเป็นๆจากเยอรมัน และ ญี่ปุ่น สิบกว่าปีหลังมานี่ไม่เคยมีใครได้เห็นตัวเป็นๆอีกเลย รายงานยืนยันครั้งสุดท้าย (เท่าที่ผมรู้) คือปลาชุดที่ส่งออกไปญี่ปุ่นเมื่อสัก 12 ปีที่แล้ว ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆแล้วซิวสมพงศ์อาศัยอยู่ที่ไหน ยังไงกันแน่ นักวิชาการรุ่นหลังๆไม่เคยมีใครเห็นตัวเป็นๆเลย มีแต่ตัวอย่างเก่าที่ไม่ได้ระบุแหล่งจับ ในหลายๆห้วงของความคิด ผมนึกว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว นั่งหาข้อมูลแล้วเจอภาพซิวสมพงศ์ในเว็บภาษาเยอรมัน สอบถามได้ความว่าปีที่แล้วมีซิวสมพงศ์ 3 ตัวหลุดไปกับปลาซิวหนู ไปอยู่ที่เยอรมัน โชคดีที่ 3 ตัวเป็นตัวผู้ 1 เมีย 2 เจ้าของชาวเยอรมันเพาะได้ตอนนี้มีอยู่ 50 กว่าตัว พอดีมีเพื่อนมาจากเยอรมันเลยฝากให้หิ้วมาให้ ก็เลยได้ยืนยันว่ามันยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ยังหาไม่เจออยู่ดีว่าในธรรมชาติมันอาศัยอยู่ที่ไหน ยังไง เป็นการบ้านที่จะต้องตามหาต่อไป (นณณ์, siamensis.org)

ความแตกต่างระหว่างเพศ
เพศผู้มีรูปร่างลักษณะรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กว่าปลาเพศเมีย บริเวณลำตัวมีสีเหลืองส้มและลวดลายข้างลำตัวจะเข้มชัดเจนเมื่อใกล้ฤดุผสมพันธุ์ เพศเมียมีลักษณะรูปร่างป้อมมีสีซีดจางและลวดลายข้างลำตัวไม่ชัดเจน ข้อแตกต่างจะเห็นได้ขัดเจนมากยิ่งขึ้นช่วงที่ปลาพร้อมจะวางไข่


อุปนิสัยและพฤติกรรม การผสมพันธุ์ อาหาร
ปกติเป็นปลาที่มีนิสัยไม่ดุร้าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี กินอาหารง่ายเป็นปลาที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ว่ายน้ำตลอดเวลา (นณณ์, กล่าวว่า) ปลาซิวในสกุล Trigonostigma จะไข่แปะไว้ใต้ใบไม้น้ำ ซึ่งแตกต่างจากปลาซิวในกลุ่มอื่นๆที่จะไข่กระจัดกระจายไปตามพื้นน้ำ ไข่จะฟักภายใน 30 ชั่วโมง แม่ปลาสามารถวางไข่ได้ประมาณ 8-10 ฟอง อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงค์ตอนสัตว์และตัวอ่อนแมลงน้ำขนาดเล็ก

การเพาะพันธุ์ และอนุบาลลูกปลา
(นณณ์, กล่าวว่า) เป็นตู้ที่แบ่งเป็นสองซีกโดยทำกระจกกั้นเป็นรูปสามเหลี่ยมให้มีช่องว่างตรงกลางอยู่เพียงแค่ 2 มม. ดูตามภาพนะครับ ด้านนอกจะเป็นที่อยู่ของพ่อแม่ปลา ด้านในที่สามเหลี่ยมทิ่มเข้าจะเป็นจุดที่ลูกปลาอยู่ทั้งนี้จะเห็นว่ากรองฟองน้ำจะอยู่ในฝากลูกปลาแต่ท่อจะพ่นน้ำมาฝั่งพ่อแม่ปลา นั่นก็คือ น้ำจะไหลเวียนจากช่องพ่อแม่ปลามาทางช่องลูกปลาตลอดเวลา เป็นการเพิ่มโอกาศที่ลูกปลาจะหลุดเข้าไปในช่องเล็กมากขึ้น ด้านพ่อแม่ปลาจะใส่มอสและเฟิร์นรากดำไว้รกๆ ส่วนฝากลูกปลาก็จะมีมอสอยู่บ้าง วิธีนี้คุณ uta บอกว่าจะได้ลูกปลาประมาณเดือนละ 10-15 ตัว ซึ่งลูกปลาจะโผล่ออกมาเอง เวลาเปลี่ยนน้ำก็ให้ดูดอย่างระวังจากฝากลูกปลา ก็จะเป็นการดึงน้ำจากฝากพ่อแม่ปลามาทางฝากลูกปลาด้วย อาหารที่ให้เป็นไรแดงแต่เน้นใส่เยอะไว้ก่อน แล้วก็หวังว่าจะมีตัวเล็กๆ ที่ลูกแลกินได้หลงเข้าไปบ้าง มีตายบางก็ใช้ที่ดูดน้ำอันเล็กๆ ดูดออกแล้วเปลี่ยนน้ำใหม่ที่ละไม่เกิน 20% จนในที่สุดลูกปลาก็โตเริ่มมีเส้นสีดำและสีทองขึ้นที่เส้นข้างตัวเหมือนพ่อแม่เมื่ออายุประมาณ 3-4 สัปดาห์



อ้างอิง : siamensis.org กลุ่มอนุรักษ์ปลาไทยและสิ่งแวดล้อม
นิตยสารอควา ปีที่ 5 ฉบับที่ 48 ประจำเดือน มกราคม 2550

06 ตุลาคม 2550

การเพาะพันธุ์ปลาหูช้าง















การเพาะพันธุ์ปลาหูช้าง (Platax orbicularis)
เรื่อง/ภาพ : สามารถ เดชสถิตย์,ไพบูลย์ บุญลิปตานนท์, อาคม สิงหบุญ และพิกุล ไชยรัตน์

ลักษณะและ สถานภาพทั่วไป
ชีววิทยาของปลาหูช้าง อยู่ในวงศ์ Perciformes ครอบครัว

Phippididae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platax orbicularis ทั่วโลกพบปลาสกุลนี้ 18 ชนิด ในเขตอินโด-แปซิฟิกสามารถพบปลาสกุลนี้ได้ 5 ชนิด สำหรับการศึกษาในครั้งนี้เป็นชนิด P. orbicularis ชื่อสามัญ round batfish หรือ batfish

สัณฐานวิทยาของปลาหูช้าง
ลำตัวแบนข้างส่วนหลังโค้งมากกว่าส่วนท้อง ครีบหูและครีบท้องอยู่ในแนวเดียวกัน ครีบหลังยาวกว่าครีบก้น ครีบหางปลายตัดตรง ลำตัวสีน้ำตาล มีแถบสีดำพาดขวาง 3 แถบ ในปลาขนาดเล็ก ครีบหลัง ครีบก้น และครีบท้องค่อนข้างยาว และจะหดสั้นเมื่อโตขึ้น อาศัยอยู่บริเวณกองหินใต้น้ำและตามชายฝั่งทะเล ปลาวัยอ่อนสามารถอาศัยในเขตน้ำกร่อยและตามปากแม่น้ำ บางครั้งพบอาศัยในน้ำจืด


อุปนิสัยของปลาหูช้าง
ปลาหูช้างเป็นปลาที่คอนข้างเชื่องช้า รักสงบตกใจง่าย แต่เมื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้แล้วจะมีความทนทานสูง โตเร็ว สามารถกินอาหารได้แทบทุกชนิด ปลาหูช้างสามารถที่จะโตได้จนมีความยาวถึง 50 เซนติเมตร ปลาหูช้างขนาดเล็กจะมีสีแดงส้มคลายสีของใบไม้ เพื่อใช้ในการพรางตัวให้พ้นจากผู้ล่าโดยการลอยตัวแบนข้างตามกระแสน้ำ ปลาวัยอ่อนส่วนใหญ่ถูกคุกคามจากการจับส่งขายเป็นปลาสวยงาม ปลาที่ได้จะบอบช้ำ อัตราการรอดน้อย คุณภาพไม่สม่ำเสมอ

การเพาะพันธุ์ปลาหูช้าง
รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ด้วยการซื้อจากเกษตรกร ซึ่งเป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติ นำมาเลี้ยงรวมกันในกระชังในบ่อดินขนาดกระชัง 2x2x2 ลูกบาศก์เมตร จำนวนพ่อแม่พันธุ์ 15 ตัว เป็นเพศผู้ 3 ตัว และเพศเมีย 12 ตัว (1:4) อาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เป็นปลาสดจำพวกปลาหลังเขียวและปลาข้างเหลือง นำมาสับเป็นชิ้น ผสมวิตามินรวม ให้อาหาร 2 วัน/ครั้ง ดูดตะกอนและเปลี่ยนถ่ายน้ำ ครั้งละ 50-80 เปอร์เซ็นต์ 2 วัน/ครั้ง ทำการตรวจเช็คการวางไข่ของปลาทุกวันในตอนเช้า

การฟักและอนุบาลปลาหูช้าง
รวบรวมไข่ปลาโดยใช้สวิงช้อนแยกไข่เสียออก ฟักไข่ในถังฟักนาด 200 ลิตร ความหนาแน่นไข่ประมาณ 50-100 ฟอง/ลิตร พร้อมกับให้อากาศเบาๆ เพื่อให้ไข่ฟุ้งกระจาย ไข่ปลาหูช้างเป็นประเภทไข่ลอย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 1.31± 0.05 มิลลิเมตร อนุบาลลูกปลาอายุ 1-10 วัน ด้วยโรติเฟอร์ อนุบาลลูกปลาอายุ 10-20 วัน ด้วยอาร์ทีเมีย

ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดกระบี่ สามารถ เดชสถิตย์,ไพบูลย์ บุญลิปตานนท์, อาคม สิงหบุญ และพิกุล ไชยรัตน์

การเพาะพันธุ์ปลาม้าน้ำ















การเพาะเลี้ยงม้าน้ำ
(Seahorse)
เรื่อง : หน่วยวิจัยการเพาะเลี้ยง ฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
ภาพ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล

การรวบรวมและการดูแลพ่อแม่พันธุ์
การเพาะเลี้ยงม้าน้ำจะเริ่มต้นจากการรวบรวบพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งก่อนที่จะรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จะต้องทำการเตรียมตู้ระบบให้อยู่ในสภาพที่สามารถรองรับจำนวนพ่อแม่พันธุ์ที่เราต้องการนำเข้ามาเสียก่อน และในระหว่างที่ทำการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จะต้องคอยตรวจสอบคุณภาพน้ำในระบบอยู่ตลอดเวลาอาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ม้าน้ำ ได้แก่ กุ้งเคยเป็นหรือแช่แข็ง และอาร์ทีเมียขนาดใหญ่ การให้อาหารโดยเฉพาะกุ้งเคยแช่แข็งจะต้องระวังอย่าให้อาหารมากจนเกินไป เพราะจะมีผลประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียในระบบและส่งผลให้ม้าน้ำที่เลี้ยงไว้ตายไปได้ในการดูแลพ่อแม่พันธุ์นี้จะต้องทำการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ม้าน้ำให้สามารถผสมพันธุ์และออกลูกในที่กักขังให้ได้ จากการศึกษาสังเกตพบว่านอกจากคุณภาพของอาหารที่มีความสัมพันธ์กับการชักน้ำให้ม้าน้ำมีการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์ (ไข่และน้ำเชื้อ) แล้ว ขนาดของบ่อเลี้ยงและสภาพแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับการชักนำให้ม้าน้ำผสมพันธุ์เช่นเดียวกันดังนั้นในการดูแลพ่อแม่พันธุ์นอกจากเรื่องขนาดของบ่อเลี้ยงแล้วผู้ดูแลจะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพน้ำในระบบ คุณค่าทางอาหารและสภาวะที่อาจก่อให้เกิดโรคในระบบเลี้ยงซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดเนื่องจากความเครียดของสัตว์น้ำเป็นส่วนใหญ่สำหรับม้าน้ำในประเทศไทยพบว่าสามารถออกลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่มากที่สุดคือในฤดูหนาว จากาการศึกษาพบว่าม้าน้ำดำจะผสมพันธุ์กันในช่วงเช้าถึงเที่ยง และใช้ระยะเวลาการวางไข่สั้นมาก ไข่จะใช้เวลาฟักอยู่ในถุงหน้าท้องตัวผู้ประมาณ 2 อาทิตย์ จากนั้นม้าน้ำตัวเล็กๆ ที่มีรูปร่างเหมือนกับพ่อแม่ก็จะถูกบีบออกมาทางช่องเปิดของถุงหน้าท้อง หลังจากนั้นเมื่อตัวผู้มีการพัฒนาการของน้ำเชื้อเต็มที่ก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้อีกทันที

การอนุบาลม้าน้ำวัยอ่อน
เป็นการอนุบาลลูกม้าน้ำที่เพิ่งออกมาจากท้องของพ่อม้าน้ำไปไรน้ำเค็มที่เพิ่งฟัก จนกระทั่งลูกม้าน้ำมีอายุได้ประมาณ 5 วัน ก็จะเริ่มให้ไรน้ำเค็มอายุ 1-2 วัน เมื่อลูกม้าน้ำมีอายุประมาณ 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป ก็สามารถเลี้ยงด้วยไรน้ำเค็มที่มีอายุ 3-4 วันได้ การอนุบาลลูกม้าน้ำในระยะแรกนี้เลี้ยงในตู้ 35 ลิตร ด้วยความหนาแน่น 200 ตัวต่อตู้ ทำการดูดตะกอนและเปลี่ยนน้ำทุกวัน เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพน้ำและอาหารตกค้าง จนกระทั่งม้าน้ำมีอายุได้ 1 เดือน ก็จะย้ายมาเลี้ยงรวมในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด ในตู้ขนาด 150 ลิตร ให้อาหารเป็นไรน้ำเค็มอายุ 5-7 วัน จนกระทั่งสามารถจำแนกเพศจากภายนอกได้ ซึ่งขณะนั้นม้าน้ำจะมีอายุประมาณ 5-8 เดือน

การเพาะพันธุ์ปลาออคิดดอดตี้แบค

















การเพาะพันธุ์ปลาออคิดดอดตี้แบค (Pseudochromis fridmani)
เรื่อง/ภาพ : คุณจตุวิทย์ เชื้อจินดา อควาเรซฟาร์ม



ปลาออคิดดอดตี้แบค (Orchid dottyback, Pseudochromis fridmani) อยู่ในวงศ์ Pseudochromidae คงมีหลายคนที่ไม่รู้จัก ทั้งที่จริงๆแล้วหลายคนคงเคยเห็นผ่านตามาบ้าง แต่ถ้าพูดถึงชื่อปลาชนิดอื่นในตลาดที่อยู่ในวงศ์นี้หลายคนคงนึกออก ปลาในสกุลนี้ที่หลายๆคนรู้จักคงหนีไม่พ้น 2 ตัวนี้คือ สตรอเบอรี่ และแพคคาเนลลา ทั้ง 2 ตัวนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Magenta dottyback (Pseudochromis porphyreus) และ Royal dottyback (Pseudochromis paccagnellae) โดยเฉพาะเจ้าสตรอเบอรี่ ถ้าคนดูไม่ออกคงคิดว่าเป็นปลาชนิดเดียวกันกับเจ้าออคิดดอดตี้แบค
ปลาออคิดดอดตี้แบค มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทะเลแดง โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 6 ซม. ทั้งตัวมีสีแดงม่วง มีแถบสีม่วงคาดจากปลายจมูกผ่านหลังตา ครีบทุกครีบมีสีแดงม่วง ลักษณะภายนอกที่ช่วยให้สามารถแยกระหว่างปลาออคิดดอดตี้แบคกับสตรอเบอรี่ได้ง่ายที่สุดคือสีของครีบเนื่องจากเจ้าสตรอเบอรี่จะมีครีบใสไม่มีสีทุกครีบ ข้อดีของออคิดดอดตี้แบคคือเวลาเลี้ยงไปนาน ๆ แล้วสีไม่ซีดเหมือนเจ้าสตรอเบอรี่ และที่สำคัญปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ดุน้อยที่สุดในบรรดาญาติ ๆ ของมัน ซึ่งหลายคนคงรู้จักพิษสงญาติ ๆ ของมันดี ถึงอย่างไรก็ตามปลาชนิดนี้ก็ยังไม่เหมาะที่จะเลี้ยงหลายตัวในตู้เล็ก ๆ


ในธรรมชาติปลาออคิดดอดตี้แบคอาศัยอยู่บริเวณก้อนหินที่มีซอกหลืบตามแนวปะการัง โดยจะอยู่ใกล้ๆกับรูที่มันอาศัย หากมีอะไรคุกคามมันจะหลบเข้าไปในรู ดังนั้นตู้ที่ใช้เลี้ยงจะต้องเป็นตู้ที่มีก้อนหินมีซอกหลืบให้มันได้หลบในขณะที่กำลังปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ๆ ปลาชนิดนี้ห้ามเลี้ยงรวมกับปลาดอดตี้แบคชนิดอื่นเนื่องจากปลามันมักจะถูกกัดตาย นอกจากนี้ปลาในกลุ่มนี้มักจะแสดงอาการก้าวร้าวกับปลาที่มีรูปทรงยาวๆคล้ายกับมัน อย่างเช่น ปลานกขุนทอง (Wrasses) ปลาบู่ทะเล (Goby) ดังนั้นถึงแม้ปลาออคิดดอดตี้แบคจะดุน้อยกว่าญาติๆก็ยังไม่ค่อยเหมาะนักที่จะเลี้ยงรวมกับปลาเหล่านี้ที่มีขนาดเล็กกว่า
ปลาออคิดดอดตี้แบคเป็นปลากินเนื้อ ในธรรมชาติจะกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตัวเล็กๆเป็นอาหาร ดังนั้นอาหารที่ให้ก็อาจจะเป็นเนื้อกุ้งเนื้อปลาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ไรทะเล นอกจากนี้ยังสามารถนำเนื้อสัตว์ทะเลหลายๆชนิดมาบดรวมกันแล้วปั้นเป็นก้อนเล็กๆให้กินได้ ส่วนอาหารสำเร็จรูปสามารถฝึกให้กินได้แต่อาจจะยากสักเล็กน้อย


ปลาออคิดดอดตี้แบคเป็นปลาที่ทนมักไม่ค่อยเป็นโรค การตายที่พบบ่อยมักจะเกิดจากการกัดกันตาย หรือกระโดดออกมาตายนอกตู้เป็นส่วนใหญ่
ในส่วนของการเพาะพันธุ์ ฟาร์มของอควาเรซเพาะพันธุ์ปลาในสกุลนี้สำเร็จเมื่อประมาณกลางปี 2548 เป็นรายแรกในประเทศไทย โดยพ่อแม่พันธุ์ได้มาจากตลาดปลาทะเลสวยงาม โดยซื้อมาในขณะที่ยังเป็นลูกปลาอยู่มีขนาดประมาณ 2.5-3 ซม. ให้ลูกปลาจับคู่กันเองในตู้ขนาด 48 นิ้ว ในตู้มีการจัดวางก้อนหินเลียนแบบธรรมชาติ ใช้เกลืออควาเรซ (AquaRaise salt) ในการเตรียมน้ำทะเลเทียมเพื่อเลี้ยงตลอดไปจนถึงการเพาะพันธุ์ ส่วนอาหารที่ให้เป็นอาหารสดบดปั้นเป็นก้อนเล็กๆ


พบว่าปลาออคิดดอดตี้แบคเป็นปลาที่ตั้งท้องเร็วมาก เนื่องจากหลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน พบว่าปลาตัวเมียเริ่มตั้งท้องและเข้าไปวางไข่ในรูของปลาตัวผู้ โดยการวางไข่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ตัวผู้ทำการเกี้ยวพาราสี ชวนให้ตัวเมียเข้าไปวางไข่ในรูของตัวเอง เมื่อนำไข่ออกมาดูพบว่าไข่มีขนาดเส้นผ่านสูญกลางประมาณ 1 มม. มีสีขาวอมเหลืองค่อนข้างใส มีเส้นใยโปรตีนเล็กๆยึดไข่แต่ละฟองเข้าไว้ด้วยกันเป็นก้อนไข่ซึ่งกลิ้งไปมาได้ ไข่ใช้เวลาประมาณ 3 วันจึงฟักเป็นตัว ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปลาการ์ตูนที่ใช้เวลาประมาณ 6 วัน และปลาจะวางไข่ทุกๆ 6-7 วัน

การอนุบาลลูกปลา ลูกปลาแรกฟักมีความยาวเท่ากับลูกปลาการ์ตูนแรกฟักคือมีขนาดประมาณ 2.5 มม. แต่มีขนาดลำตัวบางกว่าครึ่งหนึ่ง มีจุดสีเงินขนาดใหญ่ที่โคนหาง เมื่ออนุบาลด้วยวิธีเดียวกันกับปลาการ์ตูน คือให้โรติเฟอร์เป็นอาหารช่วงแรก แล้วเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนไรทะเลเมื่อลูกปลามีขนาดใหญ่ขึ้น พบว่าลูกปลาค่อยๆทยอยตายหมดหรือเกือบหมดเมื่ออายุประมาณ 21 วัน เมื่อทดลองเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารอย่างอื่นที่เหมาะสมกว่าพบว่าอัตรารอดสูงขึ้น นอกจากนี้ลูกปลายังค่อนข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำมากกว่าลูกปลาการ์ตูน ลูกปลาจะเปลี่ยนรูปร่าง (Metamorphosis) เมื่ออายุประมาณ 30 วัน (ปลาการ์ตูนใช้เวลาน้อยกว่าโดยใช้เวลาเพียงประมาณ 7-10 วัน) โดยจะมีรูปร่างเหมือนกับพ่อแม่ทุกประการเพียงแต่ตัวเล็กกว่ามีขนาดประมาณ 1.5 ซม. หลังจากนี้เลี้ยงอีกประมาณ 2 เดือนก็จะได้ขนาดประมาณ 2.5-3 ซม. ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถขายให้แก่ตลาดได้


ที่มา : คุณจตุวิทย์ เชื้อจินดา อควาเรซฟาร์ม /ชมรมผู้นิยมปลาทะเลสวยงามแห่งประเทศไทย siamreefclub

12 สิงหาคม 2550

การเพาะพันธุ์ปลาซิวข้าวสารชวา













รายงานการเพาะพันธุ์ปลาซิวข้าวสารชวา
(Oryzias javanicus)
เรื่อง/ภาพ โดย จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล
ประธานชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม

สวัสดีท่านผู้อ่านนิตยสาร AQUA ทุกท่านครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่นณณ์ บก.ร่างท้วมใหญ่ใจดี (อย่าไปเชื่อครับ บก.ออกจะหุ่นดี : บก.) ที่ได้มองเห็นความสำคัญของการเพาะขยายพันธุ์ปลาพื้นเมืองของผม ไม่เหมือนใครๆอีกหลายคน และยังให้เกียรติผมได้มีโอกาสเขียนคอลัมน์ Breeding report ในครั้งนี้ ขอแนะนำตัวหน่อยนะครับ ผมเป็นนักศึกษาภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง ในมหาวิทยาลัยเล็กๆแห่งหนึ่งทางภาคใต้ ความฝันของผมก็คืออยากเพาะปลาของบ้านเราที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ให้คนรุ่นหลังได้มีพันธุ์ปลาไว้ศึกษากันต่อ

หลังจากที่ผมได้พลัดถิ่นฐานบ้านเกิดจากแดนช้างใหญ่มาอยู่ภาคใต้ ผมก็ได้ออกเดินทางสำรวจพันธุ์ปลาและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำเกือบจะทุกชนิด ฟังดูอาจโม้ไปซะหน่อย แต่นั่นคือกิจกรรมยามว่างของผม และนำสิ่งมีชีวิตจากการสำรวจที่คิดว่าจะเลี้ยงเค้าให้รอดกลับมาที่ห้อง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเอามาผสมพันธุ์ออกลูกออกหลานให้ได้ จนกระทั่งมีปลาซิวข้าวสารจำนวนหนึ่งที่ผมพบอาศัยอยู่ในลำธารป่าพรุเล็กๆข้างมหาลัยแล้วนำมาเลี้ยงไว้มีไข่ออกมาเป็นพวงบริเวณช่องทวาร และก็เสียชีวิตไป ผมก็เริ่มเอะใจว่ามันจะวางไข่หรือป่าว จึงทำการย้ายปลาใส่ตู้ใหม่

ตู้เพาะปลาซิวข้าวสารนั้น ก็ไม่ได้เอาแบบมาจากไหนไกลเลย หลังจากหาข้อมูลตู้เพาะพันธุ์และวิธีการเพาะพันธุ์อยู่สักพักใหญ่ๆจึงได้มาลงเอยกับตู้เพาะปลาซิวสมพงษ์ในนิตยสาร AQUA ฉบับที่ 48 เดือนมกราคม ผมเลยจำลองลอกแบบมาอย่างคร่าวๆด้วยการกันช่องเป็นรูปกรวยให้พ่อแม่พันธุ์อยู่ในกรวยและอีกฝั่งเพื่อให้ลูกปลาที่จะฟักออกมาอยู่ โดยใช้ปั๊มลมดันน้ำผ่านท่อพีวีซีให้เป็นกาลักน้ำจากฝั่งนอกกรวยไปฝั่งในกรวย จากนั้นใส่น้ำจากตู้เก่าที่พ่อแม่ปลาเคยอยู่และน้ำประปาที่พักไว้แล้วอย่างละครึ่งตู้ ใส่เฟิร์นรากดำและมอสน้ำ อาหารที่ให้พ่อแม่ปลากินก็เหมือนๆเคย คืออาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป

การผสมพันธุ์วางไข่ของพ่อแม่ปลา เริ่มมีขึ้นหลังจากอยู่ตู้เพาะได้เพียง 1 วันเท่านั้น ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 2 พ่อแม่ปลาว่ายเกี้ยวพาราสี ไปรอบบริเวณต้นเฟิร์นสักพักใหญ่ๆ แม่ปลาก็เริ่มเบ่งไข่ออกมาเป็นพวงบริเวณรอบๆรูทวาร และก็ไม่ยอมวางไข่สักที ผมก็นั่งดูนอนดู ดูแล้วดูเล่า จนในที่สุดเวลาประมาณเก้าโมงกว่า แม่ปลาจึงยอมวางไข่และพ่อปลาได้ตามฉีดน้ำเชื้อ ผมจึงรีบนำปากกาเคมีมาทำเครื่องหมายจุดวางไข่ และเขียนวันและเวลาที่วางไข่เอาไว้

วันแรกของการวางไข่ผ่านไป วันที่สอง วันที่สาม... 1 อาทิตย์ ผ่านไป ทำไมมันยังไม่ฟักเนี้ยะ?? ผมตั้งคำถามให้กับตัวเอง และก็งงเอง โดยที่หาข้อมูลไม่ได้เลย ได้แต่นึกในตอนนั้นว่ามันจะเป็นแบบพวกปลาคิลลี่หรือป่าว ที่ต้องนำไข่ไปไว้บนบกก่อน เพราะจากการสังเกตดูแม่ปลามักจะวางไข่บริเวณที่มีรากของเฟิร์นรากดำเป็นฝอยๆ จึงตัดสินใจโทรไปถามพี่นณณ์ ว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่? และต้องทำอย่างไรต่อเพราะหาข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะปลาซิวข้าวสารไม่ได้เลย ในที่สุดก็ได้คำตอบมาว่า “ปลาซิวข้าวสารนี่แต่เดิมก็จัดเป็นคิลลี่ชนิดหนึ่งเหมือนกัน เพิ่งโดนเชิญออกมาไม่นานมานี่เองเพราะไข่ไม่เหมือนเค้าดันมีเส้นๆใยๆที่คิลลี่อื่นไม่มี แต่เป็นญาติใกล้กันมาก ไข่อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย อาทิตย์สองอาทิตย์ เฝ้ารอดูต่อไป” จนในที่สุดเช้าวันที่ 12 หลังจากแม่ปลาวางไข่ ผมก็สังเกตเห็นลูกปลาขนาดเล็กว่ายอยู่ในช่องนอกกรวย “เฮ้.. เฮ้...” และก็นึกในใจว่าเราบ้าไปหรือป่าว แต่ก็อดดีใจไม่ได้ที่ทำสำเร็จ ทั้งๆ ที่หาข้อมูลไม่ได้เลย ต่อไปก็มีงานชิ้นใหญ่รออยู่ แต่คงไม่ยากเกินไปแน่ๆ มาถึงขนาดนี้แล้ว “ได้แต่ปลอบใจตัวเอง” แต่ลูกปลามันเล็กมากจริงๆ

อาหารที่ผมให้ลูกปลาวันแรกคืออาร์ทีเมียที่ฟักจากไข่ได้ 24 ชม. พอใส่เข้าไปปั๊บ อ้าวตายละ.!! อาร์ทีเมียใหญ่กว่าปลา ไม่เป็นไรโรติเฟอร์ยังมี พอเปลี่ยนมาให้โรติเฟอร์มามันก็ไม่กินซะงั้น จนในที่สุดก็คิดอะไรดีๆออก ไปเอากรองแพลงตอนและไดอะตอมที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมาให้กินปรากฏว่ากินได้กินดี จนอายุได้ 30 วันจึงให้อาทีเมียร์วัยอ่อน

ตอนนี้ลูกปลาก็ออกมาได้เยอะพอควรแล้วครับ ผมคิดว่าจะทำการทดลองเกี่ยวกับอาหารที่ใช้อนุบาลลูกปลาแต่ละช่วงอายุให้เป็นจริงเป็นจังกว่านี้ เพื่อจะได้มีข้อมูลทางวิชาการในการอนุบาลปลาชนิดนี้ต่อไป…
ที่มา : นิตยสาร อควา ปีที่ 5 ฉบับที่ 52 ประจำเดือน มิถุนายน 2550

การเพาะพันธุ์ปลาจิ้มฟันจระเข้

เรื่อง/ภาพ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล

การเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน

เรื่อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ เกิดปราง
ภาพ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล

27 กรกฎาคม 2550

การเพาะพันธุ์ปลาซิวหางกรรไกร













Rasbora trilineata ปลาซิวหางกรรไกร
เรียบเรียง : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล
ภาพ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล

ลักษณะ สถานภาพทั่วไป
ปลาชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดพบในแหล่งน้ำทั่วไปในประเทศไทย ตัวเต็มวัยมีความยาว 13 เซนติเมตร มีจุดเด่นที่ครีบหางเนื่องจากมีแถบสีดำพาดขวางแพนหางทั้งบนและล่างซึ่งแถบสีดำนี้ค่อนไปทางส่วนปลายของแพนหาง ขอบในและขอบนอกของแถบสีดำนี้มีแถบสีขาวพาดขนานคู่กันไปอีกด้วย สีดำและสีขาวนี้จะตัดกับสีเหลืองอ่อน ซึ่งเป็นสีพื้นของครีบหางสวยสะดุดตามาก ครีบหลังมีก้านครีบสีเหลืองอ่อน ส่วนครีบก้น ครีบท้องและครีบอกใสไมมีสี ปลาซิวหางกรรไกรเป็นปลาอาศัยอยู่ผิวน้ำในลำธาร คูคลอง ร่องสวน และบางครั้งก็พบในหนองบึงบริเวณที่ราบลุ่ม

ความแตกต่างระหว่างเพศ
เพศผู้มีลักษณะรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กมากกว่าปลาเพศเมีย บริเวณลำตัวมีสีเหลืองและลวดลายข้างลำตัวจะเข้มชัดเจน เพศเมียมีลักษณะรูปร่างสั้นป้อมและมีส่วนท้องอูมเป่งบริเวณลำตัวมีสีเหลืองจางและลวดลายข้างลำตัวไม่ชัดเจน ปลาเพศเมียจะมีลำตัวป้อมกว่าตัวผู้จะยิ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจน ช่วงที่ปลาพร้อมจะวางไข่

อุปนิสัยและพฤติกรรม การผสมพันธุ์ อาหาร
ปกติเป็นปลาที่ว่ายน้ำเร็ว ชอบอาศัยในแหล่งน้ำเปิด มีนิสัยไม่ดุร้าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี กินอาหารง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปลาชนิดนี้ไม่ชอบอยู่นิ่ง มักว่ายน้ำขึ้นลงบริเวณผิวน้ำและกลางน้ำตลอดเวลา แม่ปลาสามารถวางไข่ได้ประมาณ 200-300 ฟอง ปลาซิวหางกรรไกรกินแพลงค์ตอนสัตว์และตัวอ่อนแมลงน้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร (Rainboth, กล่าวว่า) อาหารส่วนใหญ่เป็นจำพวกแมลง การจับปลาชนิดนี้ ชาวประมงจะใช้อวนสวิง และลอบดักปลา ปลาชนิดนี้ไม่พบเห็นทั่วไปในตลาดปลาแต่จะเป็นที่นิยมอย่างสูงในแวดวงการค้าปลาสวยงาม

การเพาะพันธุ์ และอนุบาลลูกปลา
ปลาซิวหางกรรไกรจัดเป็นชนิดที่เพาะง่ายที่สุดในกลุ่มปลาซิวด้วยกัน สามารถเพาะขยายพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติได้ด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกับกลุ่มปลาตะเพียน เช่น ตะเพียนทอง, กระแหทอง เป็นต้น คุณภาพน้ำที่เหมาะสมในการเพาะขยายพันธุ์ น้ำควรค่อนข้างเป็นกรดอ่อนๆ (pHประมาณ 5.5-6.5) และน้ำที่ใช้ควรกรองผ่านพวกถ่านหรือใช้น้ำบริเวณที่มีซากใบไม้ทับถมกันนาน คัดเลือกพ่อแม่ปลาที่สมบูรณ์แล้วนำใส่ตู้เพาะพันธุ์ที่มีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น สาหร่ายหางกระรอก อะเมซอนใบกลม ใส่พ่อแม่พันธุ์ในอัตราส่วนเพศ 1:1 (1 คู่ต่อตู้) หลังจากแม่ปลาวางไข่แล้ว ช้อนแม่ปลาออกจากตู้ โดยปล่อยพ่อปลาไว้ดูแลไข่ จนไข่ฟักเป็นตัว

อ้างอิง : เอกสารวิชาการฉบับที่ 209 การศึกษาเบื้องต้นทางชีววิทยาบางประการและการทดลองเพาะขยายพันธุ์ปลาซิวหางกรรไกร
กำชัย ลาวัณยวุฒิ, วิทยา หวังเจริญพร สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง

23 กรกฎาคม 2550

รับปรึกษาปัญหาสัตว์น้ำ สุขภาพสัตว์น้ำ ด้านการจัดการสัตว์น้ำ การเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำสวยงามทุกชนิด ทุกปัญหาเรามีทางแก้ไข
ติดต่อได้ที่ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล ประธานชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม170/5 หมู่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150โทรศัพท์ : +66(0)84 1900190
e-mail : j.polpermpul@gmail.com