27 กรกฎาคม 2550

การเพาะพันธุ์ปลาซิวหางกรรไกร













Rasbora trilineata ปลาซิวหางกรรไกร
เรียบเรียง : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล
ภาพ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล

ลักษณะ สถานภาพทั่วไป
ปลาชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดพบในแหล่งน้ำทั่วไปในประเทศไทย ตัวเต็มวัยมีความยาว 13 เซนติเมตร มีจุดเด่นที่ครีบหางเนื่องจากมีแถบสีดำพาดขวางแพนหางทั้งบนและล่างซึ่งแถบสีดำนี้ค่อนไปทางส่วนปลายของแพนหาง ขอบในและขอบนอกของแถบสีดำนี้มีแถบสีขาวพาดขนานคู่กันไปอีกด้วย สีดำและสีขาวนี้จะตัดกับสีเหลืองอ่อน ซึ่งเป็นสีพื้นของครีบหางสวยสะดุดตามาก ครีบหลังมีก้านครีบสีเหลืองอ่อน ส่วนครีบก้น ครีบท้องและครีบอกใสไมมีสี ปลาซิวหางกรรไกรเป็นปลาอาศัยอยู่ผิวน้ำในลำธาร คูคลอง ร่องสวน และบางครั้งก็พบในหนองบึงบริเวณที่ราบลุ่ม

ความแตกต่างระหว่างเพศ
เพศผู้มีลักษณะรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กมากกว่าปลาเพศเมีย บริเวณลำตัวมีสีเหลืองและลวดลายข้างลำตัวจะเข้มชัดเจน เพศเมียมีลักษณะรูปร่างสั้นป้อมและมีส่วนท้องอูมเป่งบริเวณลำตัวมีสีเหลืองจางและลวดลายข้างลำตัวไม่ชัดเจน ปลาเพศเมียจะมีลำตัวป้อมกว่าตัวผู้จะยิ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจน ช่วงที่ปลาพร้อมจะวางไข่

อุปนิสัยและพฤติกรรม การผสมพันธุ์ อาหาร
ปกติเป็นปลาที่ว่ายน้ำเร็ว ชอบอาศัยในแหล่งน้ำเปิด มีนิสัยไม่ดุร้าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี กินอาหารง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปลาชนิดนี้ไม่ชอบอยู่นิ่ง มักว่ายน้ำขึ้นลงบริเวณผิวน้ำและกลางน้ำตลอดเวลา แม่ปลาสามารถวางไข่ได้ประมาณ 200-300 ฟอง ปลาซิวหางกรรไกรกินแพลงค์ตอนสัตว์และตัวอ่อนแมลงน้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร (Rainboth, กล่าวว่า) อาหารส่วนใหญ่เป็นจำพวกแมลง การจับปลาชนิดนี้ ชาวประมงจะใช้อวนสวิง และลอบดักปลา ปลาชนิดนี้ไม่พบเห็นทั่วไปในตลาดปลาแต่จะเป็นที่นิยมอย่างสูงในแวดวงการค้าปลาสวยงาม

การเพาะพันธุ์ และอนุบาลลูกปลา
ปลาซิวหางกรรไกรจัดเป็นชนิดที่เพาะง่ายที่สุดในกลุ่มปลาซิวด้วยกัน สามารถเพาะขยายพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติได้ด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกับกลุ่มปลาตะเพียน เช่น ตะเพียนทอง, กระแหทอง เป็นต้น คุณภาพน้ำที่เหมาะสมในการเพาะขยายพันธุ์ น้ำควรค่อนข้างเป็นกรดอ่อนๆ (pHประมาณ 5.5-6.5) และน้ำที่ใช้ควรกรองผ่านพวกถ่านหรือใช้น้ำบริเวณที่มีซากใบไม้ทับถมกันนาน คัดเลือกพ่อแม่ปลาที่สมบูรณ์แล้วนำใส่ตู้เพาะพันธุ์ที่มีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น สาหร่ายหางกระรอก อะเมซอนใบกลม ใส่พ่อแม่พันธุ์ในอัตราส่วนเพศ 1:1 (1 คู่ต่อตู้) หลังจากแม่ปลาวางไข่แล้ว ช้อนแม่ปลาออกจากตู้ โดยปล่อยพ่อปลาไว้ดูแลไข่ จนไข่ฟักเป็นตัว

อ้างอิง : เอกสารวิชาการฉบับที่ 209 การศึกษาเบื้องต้นทางชีววิทยาบางประการและการทดลองเพาะขยายพันธุ์ปลาซิวหางกรรไกร
กำชัย ลาวัณยวุฒิ, วิทยา หวังเจริญพร สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง

23 กรกฎาคม 2550

รับปรึกษาปัญหาสัตว์น้ำ สุขภาพสัตว์น้ำ ด้านการจัดการสัตว์น้ำ การเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำสวยงามทุกชนิด ทุกปัญหาเรามีทางแก้ไข
ติดต่อได้ที่ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล ประธานชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม170/5 หมู่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150โทรศัพท์ : +66(0)84 1900190
e-mail : j.polpermpul@gmail.com