12 สิงหาคม 2550

การเพาะพันธุ์ปลาซิวข้าวสารชวา













รายงานการเพาะพันธุ์ปลาซิวข้าวสารชวา
(Oryzias javanicus)
เรื่อง/ภาพ โดย จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล
ประธานชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม

สวัสดีท่านผู้อ่านนิตยสาร AQUA ทุกท่านครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่นณณ์ บก.ร่างท้วมใหญ่ใจดี (อย่าไปเชื่อครับ บก.ออกจะหุ่นดี : บก.) ที่ได้มองเห็นความสำคัญของการเพาะขยายพันธุ์ปลาพื้นเมืองของผม ไม่เหมือนใครๆอีกหลายคน และยังให้เกียรติผมได้มีโอกาสเขียนคอลัมน์ Breeding report ในครั้งนี้ ขอแนะนำตัวหน่อยนะครับ ผมเป็นนักศึกษาภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง ในมหาวิทยาลัยเล็กๆแห่งหนึ่งทางภาคใต้ ความฝันของผมก็คืออยากเพาะปลาของบ้านเราที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ให้คนรุ่นหลังได้มีพันธุ์ปลาไว้ศึกษากันต่อ

หลังจากที่ผมได้พลัดถิ่นฐานบ้านเกิดจากแดนช้างใหญ่มาอยู่ภาคใต้ ผมก็ได้ออกเดินทางสำรวจพันธุ์ปลาและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำเกือบจะทุกชนิด ฟังดูอาจโม้ไปซะหน่อย แต่นั่นคือกิจกรรมยามว่างของผม และนำสิ่งมีชีวิตจากการสำรวจที่คิดว่าจะเลี้ยงเค้าให้รอดกลับมาที่ห้อง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเอามาผสมพันธุ์ออกลูกออกหลานให้ได้ จนกระทั่งมีปลาซิวข้าวสารจำนวนหนึ่งที่ผมพบอาศัยอยู่ในลำธารป่าพรุเล็กๆข้างมหาลัยแล้วนำมาเลี้ยงไว้มีไข่ออกมาเป็นพวงบริเวณช่องทวาร และก็เสียชีวิตไป ผมก็เริ่มเอะใจว่ามันจะวางไข่หรือป่าว จึงทำการย้ายปลาใส่ตู้ใหม่

ตู้เพาะปลาซิวข้าวสารนั้น ก็ไม่ได้เอาแบบมาจากไหนไกลเลย หลังจากหาข้อมูลตู้เพาะพันธุ์และวิธีการเพาะพันธุ์อยู่สักพักใหญ่ๆจึงได้มาลงเอยกับตู้เพาะปลาซิวสมพงษ์ในนิตยสาร AQUA ฉบับที่ 48 เดือนมกราคม ผมเลยจำลองลอกแบบมาอย่างคร่าวๆด้วยการกันช่องเป็นรูปกรวยให้พ่อแม่พันธุ์อยู่ในกรวยและอีกฝั่งเพื่อให้ลูกปลาที่จะฟักออกมาอยู่ โดยใช้ปั๊มลมดันน้ำผ่านท่อพีวีซีให้เป็นกาลักน้ำจากฝั่งนอกกรวยไปฝั่งในกรวย จากนั้นใส่น้ำจากตู้เก่าที่พ่อแม่ปลาเคยอยู่และน้ำประปาที่พักไว้แล้วอย่างละครึ่งตู้ ใส่เฟิร์นรากดำและมอสน้ำ อาหารที่ให้พ่อแม่ปลากินก็เหมือนๆเคย คืออาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป

การผสมพันธุ์วางไข่ของพ่อแม่ปลา เริ่มมีขึ้นหลังจากอยู่ตู้เพาะได้เพียง 1 วันเท่านั้น ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 2 พ่อแม่ปลาว่ายเกี้ยวพาราสี ไปรอบบริเวณต้นเฟิร์นสักพักใหญ่ๆ แม่ปลาก็เริ่มเบ่งไข่ออกมาเป็นพวงบริเวณรอบๆรูทวาร และก็ไม่ยอมวางไข่สักที ผมก็นั่งดูนอนดู ดูแล้วดูเล่า จนในที่สุดเวลาประมาณเก้าโมงกว่า แม่ปลาจึงยอมวางไข่และพ่อปลาได้ตามฉีดน้ำเชื้อ ผมจึงรีบนำปากกาเคมีมาทำเครื่องหมายจุดวางไข่ และเขียนวันและเวลาที่วางไข่เอาไว้

วันแรกของการวางไข่ผ่านไป วันที่สอง วันที่สาม... 1 อาทิตย์ ผ่านไป ทำไมมันยังไม่ฟักเนี้ยะ?? ผมตั้งคำถามให้กับตัวเอง และก็งงเอง โดยที่หาข้อมูลไม่ได้เลย ได้แต่นึกในตอนนั้นว่ามันจะเป็นแบบพวกปลาคิลลี่หรือป่าว ที่ต้องนำไข่ไปไว้บนบกก่อน เพราะจากการสังเกตดูแม่ปลามักจะวางไข่บริเวณที่มีรากของเฟิร์นรากดำเป็นฝอยๆ จึงตัดสินใจโทรไปถามพี่นณณ์ ว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่? และต้องทำอย่างไรต่อเพราะหาข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะปลาซิวข้าวสารไม่ได้เลย ในที่สุดก็ได้คำตอบมาว่า “ปลาซิวข้าวสารนี่แต่เดิมก็จัดเป็นคิลลี่ชนิดหนึ่งเหมือนกัน เพิ่งโดนเชิญออกมาไม่นานมานี่เองเพราะไข่ไม่เหมือนเค้าดันมีเส้นๆใยๆที่คิลลี่อื่นไม่มี แต่เป็นญาติใกล้กันมาก ไข่อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย อาทิตย์สองอาทิตย์ เฝ้ารอดูต่อไป” จนในที่สุดเช้าวันที่ 12 หลังจากแม่ปลาวางไข่ ผมก็สังเกตเห็นลูกปลาขนาดเล็กว่ายอยู่ในช่องนอกกรวย “เฮ้.. เฮ้...” และก็นึกในใจว่าเราบ้าไปหรือป่าว แต่ก็อดดีใจไม่ได้ที่ทำสำเร็จ ทั้งๆ ที่หาข้อมูลไม่ได้เลย ต่อไปก็มีงานชิ้นใหญ่รออยู่ แต่คงไม่ยากเกินไปแน่ๆ มาถึงขนาดนี้แล้ว “ได้แต่ปลอบใจตัวเอง” แต่ลูกปลามันเล็กมากจริงๆ

อาหารที่ผมให้ลูกปลาวันแรกคืออาร์ทีเมียที่ฟักจากไข่ได้ 24 ชม. พอใส่เข้าไปปั๊บ อ้าวตายละ.!! อาร์ทีเมียใหญ่กว่าปลา ไม่เป็นไรโรติเฟอร์ยังมี พอเปลี่ยนมาให้โรติเฟอร์มามันก็ไม่กินซะงั้น จนในที่สุดก็คิดอะไรดีๆออก ไปเอากรองแพลงตอนและไดอะตอมที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมาให้กินปรากฏว่ากินได้กินดี จนอายุได้ 30 วันจึงให้อาทีเมียร์วัยอ่อน

ตอนนี้ลูกปลาก็ออกมาได้เยอะพอควรแล้วครับ ผมคิดว่าจะทำการทดลองเกี่ยวกับอาหารที่ใช้อนุบาลลูกปลาแต่ละช่วงอายุให้เป็นจริงเป็นจังกว่านี้ เพื่อจะได้มีข้อมูลทางวิชาการในการอนุบาลปลาชนิดนี้ต่อไป…
ที่มา : นิตยสาร อควา ปีที่ 5 ฉบับที่ 52 ประจำเดือน มิถุนายน 2550

การเพาะพันธุ์ปลาจิ้มฟันจระเข้

เรื่อง/ภาพ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล

การเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน

เรื่อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ เกิดปราง
ภาพ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล
รับปรึกษาปัญหาสัตว์น้ำ สุขภาพสัตว์น้ำ ด้านการจัดการสัตว์น้ำ การเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำสวยงามทุกชนิด ทุกปัญหาเรามีทางแก้ไข
ติดต่อได้ที่ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล ประธานชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม170/5 หมู่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150โทรศัพท์ : +66(0)84 1900190
e-mail : j.polpermpul@gmail.com