06 ตุลาคม 2550

การเพาะพันธุ์ปลาออคิดดอดตี้แบค

















การเพาะพันธุ์ปลาออคิดดอดตี้แบค (Pseudochromis fridmani)
เรื่อง/ภาพ : คุณจตุวิทย์ เชื้อจินดา อควาเรซฟาร์ม



ปลาออคิดดอดตี้แบค (Orchid dottyback, Pseudochromis fridmani) อยู่ในวงศ์ Pseudochromidae คงมีหลายคนที่ไม่รู้จัก ทั้งที่จริงๆแล้วหลายคนคงเคยเห็นผ่านตามาบ้าง แต่ถ้าพูดถึงชื่อปลาชนิดอื่นในตลาดที่อยู่ในวงศ์นี้หลายคนคงนึกออก ปลาในสกุลนี้ที่หลายๆคนรู้จักคงหนีไม่พ้น 2 ตัวนี้คือ สตรอเบอรี่ และแพคคาเนลลา ทั้ง 2 ตัวนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Magenta dottyback (Pseudochromis porphyreus) และ Royal dottyback (Pseudochromis paccagnellae) โดยเฉพาะเจ้าสตรอเบอรี่ ถ้าคนดูไม่ออกคงคิดว่าเป็นปลาชนิดเดียวกันกับเจ้าออคิดดอดตี้แบค
ปลาออคิดดอดตี้แบค มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทะเลแดง โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 6 ซม. ทั้งตัวมีสีแดงม่วง มีแถบสีม่วงคาดจากปลายจมูกผ่านหลังตา ครีบทุกครีบมีสีแดงม่วง ลักษณะภายนอกที่ช่วยให้สามารถแยกระหว่างปลาออคิดดอดตี้แบคกับสตรอเบอรี่ได้ง่ายที่สุดคือสีของครีบเนื่องจากเจ้าสตรอเบอรี่จะมีครีบใสไม่มีสีทุกครีบ ข้อดีของออคิดดอดตี้แบคคือเวลาเลี้ยงไปนาน ๆ แล้วสีไม่ซีดเหมือนเจ้าสตรอเบอรี่ และที่สำคัญปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ดุน้อยที่สุดในบรรดาญาติ ๆ ของมัน ซึ่งหลายคนคงรู้จักพิษสงญาติ ๆ ของมันดี ถึงอย่างไรก็ตามปลาชนิดนี้ก็ยังไม่เหมาะที่จะเลี้ยงหลายตัวในตู้เล็ก ๆ


ในธรรมชาติปลาออคิดดอดตี้แบคอาศัยอยู่บริเวณก้อนหินที่มีซอกหลืบตามแนวปะการัง โดยจะอยู่ใกล้ๆกับรูที่มันอาศัย หากมีอะไรคุกคามมันจะหลบเข้าไปในรู ดังนั้นตู้ที่ใช้เลี้ยงจะต้องเป็นตู้ที่มีก้อนหินมีซอกหลืบให้มันได้หลบในขณะที่กำลังปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ๆ ปลาชนิดนี้ห้ามเลี้ยงรวมกับปลาดอดตี้แบคชนิดอื่นเนื่องจากปลามันมักจะถูกกัดตาย นอกจากนี้ปลาในกลุ่มนี้มักจะแสดงอาการก้าวร้าวกับปลาที่มีรูปทรงยาวๆคล้ายกับมัน อย่างเช่น ปลานกขุนทอง (Wrasses) ปลาบู่ทะเล (Goby) ดังนั้นถึงแม้ปลาออคิดดอดตี้แบคจะดุน้อยกว่าญาติๆก็ยังไม่ค่อยเหมาะนักที่จะเลี้ยงรวมกับปลาเหล่านี้ที่มีขนาดเล็กกว่า
ปลาออคิดดอดตี้แบคเป็นปลากินเนื้อ ในธรรมชาติจะกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตัวเล็กๆเป็นอาหาร ดังนั้นอาหารที่ให้ก็อาจจะเป็นเนื้อกุ้งเนื้อปลาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ไรทะเล นอกจากนี้ยังสามารถนำเนื้อสัตว์ทะเลหลายๆชนิดมาบดรวมกันแล้วปั้นเป็นก้อนเล็กๆให้กินได้ ส่วนอาหารสำเร็จรูปสามารถฝึกให้กินได้แต่อาจจะยากสักเล็กน้อย


ปลาออคิดดอดตี้แบคเป็นปลาที่ทนมักไม่ค่อยเป็นโรค การตายที่พบบ่อยมักจะเกิดจากการกัดกันตาย หรือกระโดดออกมาตายนอกตู้เป็นส่วนใหญ่
ในส่วนของการเพาะพันธุ์ ฟาร์มของอควาเรซเพาะพันธุ์ปลาในสกุลนี้สำเร็จเมื่อประมาณกลางปี 2548 เป็นรายแรกในประเทศไทย โดยพ่อแม่พันธุ์ได้มาจากตลาดปลาทะเลสวยงาม โดยซื้อมาในขณะที่ยังเป็นลูกปลาอยู่มีขนาดประมาณ 2.5-3 ซม. ให้ลูกปลาจับคู่กันเองในตู้ขนาด 48 นิ้ว ในตู้มีการจัดวางก้อนหินเลียนแบบธรรมชาติ ใช้เกลืออควาเรซ (AquaRaise salt) ในการเตรียมน้ำทะเลเทียมเพื่อเลี้ยงตลอดไปจนถึงการเพาะพันธุ์ ส่วนอาหารที่ให้เป็นอาหารสดบดปั้นเป็นก้อนเล็กๆ


พบว่าปลาออคิดดอดตี้แบคเป็นปลาที่ตั้งท้องเร็วมาก เนื่องจากหลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน พบว่าปลาตัวเมียเริ่มตั้งท้องและเข้าไปวางไข่ในรูของปลาตัวผู้ โดยการวางไข่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ตัวผู้ทำการเกี้ยวพาราสี ชวนให้ตัวเมียเข้าไปวางไข่ในรูของตัวเอง เมื่อนำไข่ออกมาดูพบว่าไข่มีขนาดเส้นผ่านสูญกลางประมาณ 1 มม. มีสีขาวอมเหลืองค่อนข้างใส มีเส้นใยโปรตีนเล็กๆยึดไข่แต่ละฟองเข้าไว้ด้วยกันเป็นก้อนไข่ซึ่งกลิ้งไปมาได้ ไข่ใช้เวลาประมาณ 3 วันจึงฟักเป็นตัว ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปลาการ์ตูนที่ใช้เวลาประมาณ 6 วัน และปลาจะวางไข่ทุกๆ 6-7 วัน

การอนุบาลลูกปลา ลูกปลาแรกฟักมีความยาวเท่ากับลูกปลาการ์ตูนแรกฟักคือมีขนาดประมาณ 2.5 มม. แต่มีขนาดลำตัวบางกว่าครึ่งหนึ่ง มีจุดสีเงินขนาดใหญ่ที่โคนหาง เมื่ออนุบาลด้วยวิธีเดียวกันกับปลาการ์ตูน คือให้โรติเฟอร์เป็นอาหารช่วงแรก แล้วเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนไรทะเลเมื่อลูกปลามีขนาดใหญ่ขึ้น พบว่าลูกปลาค่อยๆทยอยตายหมดหรือเกือบหมดเมื่ออายุประมาณ 21 วัน เมื่อทดลองเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารอย่างอื่นที่เหมาะสมกว่าพบว่าอัตรารอดสูงขึ้น นอกจากนี้ลูกปลายังค่อนข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำมากกว่าลูกปลาการ์ตูน ลูกปลาจะเปลี่ยนรูปร่าง (Metamorphosis) เมื่ออายุประมาณ 30 วัน (ปลาการ์ตูนใช้เวลาน้อยกว่าโดยใช้เวลาเพียงประมาณ 7-10 วัน) โดยจะมีรูปร่างเหมือนกับพ่อแม่ทุกประการเพียงแต่ตัวเล็กกว่ามีขนาดประมาณ 1.5 ซม. หลังจากนี้เลี้ยงอีกประมาณ 2 เดือนก็จะได้ขนาดประมาณ 2.5-3 ซม. ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถขายให้แก่ตลาดได้


ที่มา : คุณจตุวิทย์ เชื้อจินดา อควาเรซฟาร์ม /ชมรมผู้นิยมปลาทะเลสวยงามแห่งประเทศไทย siamreefclub

ไม่มีความคิดเห็น:

รับปรึกษาปัญหาสัตว์น้ำ สุขภาพสัตว์น้ำ ด้านการจัดการสัตว์น้ำ การเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำสวยงามทุกชนิด ทุกปัญหาเรามีทางแก้ไข
ติดต่อได้ที่ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล ประธานชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม170/5 หมู่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150โทรศัพท์ : +66(0)84 1900190
e-mail : j.polpermpul@gmail.com