06 ตุลาคม 2550

การเพาะพันธุ์ปลาหูช้าง















การเพาะพันธุ์ปลาหูช้าง (Platax orbicularis)
เรื่อง/ภาพ : สามารถ เดชสถิตย์,ไพบูลย์ บุญลิปตานนท์, อาคม สิงหบุญ และพิกุล ไชยรัตน์

ลักษณะและ สถานภาพทั่วไป
ชีววิทยาของปลาหูช้าง อยู่ในวงศ์ Perciformes ครอบครัว

Phippididae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platax orbicularis ทั่วโลกพบปลาสกุลนี้ 18 ชนิด ในเขตอินโด-แปซิฟิกสามารถพบปลาสกุลนี้ได้ 5 ชนิด สำหรับการศึกษาในครั้งนี้เป็นชนิด P. orbicularis ชื่อสามัญ round batfish หรือ batfish

สัณฐานวิทยาของปลาหูช้าง
ลำตัวแบนข้างส่วนหลังโค้งมากกว่าส่วนท้อง ครีบหูและครีบท้องอยู่ในแนวเดียวกัน ครีบหลังยาวกว่าครีบก้น ครีบหางปลายตัดตรง ลำตัวสีน้ำตาล มีแถบสีดำพาดขวาง 3 แถบ ในปลาขนาดเล็ก ครีบหลัง ครีบก้น และครีบท้องค่อนข้างยาว และจะหดสั้นเมื่อโตขึ้น อาศัยอยู่บริเวณกองหินใต้น้ำและตามชายฝั่งทะเล ปลาวัยอ่อนสามารถอาศัยในเขตน้ำกร่อยและตามปากแม่น้ำ บางครั้งพบอาศัยในน้ำจืด


อุปนิสัยของปลาหูช้าง
ปลาหูช้างเป็นปลาที่คอนข้างเชื่องช้า รักสงบตกใจง่าย แต่เมื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้แล้วจะมีความทนทานสูง โตเร็ว สามารถกินอาหารได้แทบทุกชนิด ปลาหูช้างสามารถที่จะโตได้จนมีความยาวถึง 50 เซนติเมตร ปลาหูช้างขนาดเล็กจะมีสีแดงส้มคลายสีของใบไม้ เพื่อใช้ในการพรางตัวให้พ้นจากผู้ล่าโดยการลอยตัวแบนข้างตามกระแสน้ำ ปลาวัยอ่อนส่วนใหญ่ถูกคุกคามจากการจับส่งขายเป็นปลาสวยงาม ปลาที่ได้จะบอบช้ำ อัตราการรอดน้อย คุณภาพไม่สม่ำเสมอ

การเพาะพันธุ์ปลาหูช้าง
รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ด้วยการซื้อจากเกษตรกร ซึ่งเป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติ นำมาเลี้ยงรวมกันในกระชังในบ่อดินขนาดกระชัง 2x2x2 ลูกบาศก์เมตร จำนวนพ่อแม่พันธุ์ 15 ตัว เป็นเพศผู้ 3 ตัว และเพศเมีย 12 ตัว (1:4) อาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เป็นปลาสดจำพวกปลาหลังเขียวและปลาข้างเหลือง นำมาสับเป็นชิ้น ผสมวิตามินรวม ให้อาหาร 2 วัน/ครั้ง ดูดตะกอนและเปลี่ยนถ่ายน้ำ ครั้งละ 50-80 เปอร์เซ็นต์ 2 วัน/ครั้ง ทำการตรวจเช็คการวางไข่ของปลาทุกวันในตอนเช้า

การฟักและอนุบาลปลาหูช้าง
รวบรวมไข่ปลาโดยใช้สวิงช้อนแยกไข่เสียออก ฟักไข่ในถังฟักนาด 200 ลิตร ความหนาแน่นไข่ประมาณ 50-100 ฟอง/ลิตร พร้อมกับให้อากาศเบาๆ เพื่อให้ไข่ฟุ้งกระจาย ไข่ปลาหูช้างเป็นประเภทไข่ลอย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 1.31± 0.05 มิลลิเมตร อนุบาลลูกปลาอายุ 1-10 วัน ด้วยโรติเฟอร์ อนุบาลลูกปลาอายุ 10-20 วัน ด้วยอาร์ทีเมีย

ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดกระบี่ สามารถ เดชสถิตย์,ไพบูลย์ บุญลิปตานนท์, อาคม สิงหบุญ และพิกุล ไชยรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

รับปรึกษาปัญหาสัตว์น้ำ สุขภาพสัตว์น้ำ ด้านการจัดการสัตว์น้ำ การเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำสวยงามทุกชนิด ทุกปัญหาเรามีทางแก้ไข
ติดต่อได้ที่ : จิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล ประธานชมรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม170/5 หมู่ 3 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150โทรศัพท์ : +66(0)84 1900190
e-mail : j.polpermpul@gmail.com